Author Archives: pharmaphila

กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยมีคำสั่งแก้ไขข้อบ่งใช้และคำเตือนของยาไฮดรอกซีเอทิล สตาร์ช [Hydroxyethyl starch (HES)]

เมื่อปีที่ผ่านมา ในต่างประเทศได้มีมาตรการเตือนภัยเกี่ยวกับการใช้ยา (ดูรายละเอียดที่ คำเตือนการใช้ Hydroxyethyl starch solutions (HES) https://pharmaphila.wordpress.com/2013/06/25/hydroxyethylstarchsolution/)

วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2558 ประเทศไทยได้มี คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1056/2558 เรื่อง แก้ไขทะเบียนตํารับยาไฮดรอกซีเอทิล สตาร์ช [Hydroxyethyl starch (HES)] ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 179 ง วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2538 หน้า 18 มีผลใช้บังคับทันที โดยให้แก้ไขทะเบียนตำรับยาภายใน 1 ปี (ภายใน 4 สิงหาคม พ.ศ.2558) หากไม่แก้ไขทะเบียนตำรับยาอาจเป็นสาเหตุให้ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาได้ในฐานะเป็นยาที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ การแก้ไขทะเบียนตำรับยาครั้งนี้ เป็นการแก้ไขในประเด็นฉลากและเอกสารกำกับยา โดยให้เหตุผลว่า ผู้ป่วยที่รักษาด้วยไฮดรอกซีเอทิล สตาร์ช [Hydroxyethyl starch (HES)] มีความเสี่ยงต่อการเกิดความเป็นพิษต่อไตที่ต้องทํา dialysis และอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต สมควรกําหนดข้อบ่งใช้และการแสดงรายละเอียดในฉลากและเอกสารกํากับยาเกี่ยวกับคำเตือน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้ยา ดังนั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 86 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนําของคณะกรรมการยาในการประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 จึงมีคำสั่งให้แก้ไขทะเบียนตำรับยาไฮดรอกซีเอทิล สตาร์ช [Hydroxyethyl starch (HES)] มีข้อบ่งใช้ดังนี้

(1) ใช้ในภาวะพร่องสารน้ำที่เกิดจากการสูญเสียเลือดอย่างเฉียบพลัน
(2) ใช้ในผู้ป่วยผ่าตัดไม่เร่งด่วน (elective surgery) อุบัติเหตุ และผ่าตัดหัวใจ ที่ต้องใช้เครื่องปอด – หัวใจเทียม ในกรณีที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล

RKJ25580804-HES1

ด้านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับยาให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ ในฉลากและที่เอกสารกำกับยาและข้อความของคำเตือน ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา และข้อความของคำเตือน ฉบับที่ 56 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 179 ง วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2538 หน้า 9 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 240 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้เพิ่มคำเตือนดังนี้

(1) ห้ามใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด (severe sepsis) ผู้ป่วยภาวะวิกฤติ ผู้ป่วย ภาวะการทำงานของไตบกพร่อง ผู้ป่วยภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และผู้ป่วยแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
(2) ใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วย elective surgery, trauma, open heart surgery ที่ต้องใช้ cardiopulmonary bypass
(3) ควรใช้ในปริมาณและระยะเวลาน้อยที่สุดไม่เกิน 24 ชั่วโมง
(4) ควรติดตามการทำงานของไตอย่างน้อย 90 วัน และติดตามความสามารถในการแข็งตัว ของเลือดอย่างใกล้ชิด โดยให้ระบุอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับข้อบ่งใช้

RKJ25580804-HES2

เอกสารอ้างอิง

คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1056/2558 เรื่อง แก้ไขทะเบียนตำรับยาไฮดรอกซีเอทิล สตาร์ช [Hydroxyethyl starch (HES)]. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 179 ง วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2538 หน้า 18. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/179/18.PDF

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา และข้อความของคำเตือน ฉบับที่ 56. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 179 ง วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2538 หน้า 9. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/179/9.PDF

ยาสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในกลุ่ม SGLT2 inhibitors (canagliflozin, dapagliflozin and empagliflozin) กับความเสี่ยงภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน

วันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.2015 เว็บไซต์องค์การยา สหภาพยุโรป (European Medicines Agency หรือ EMA) เผยแพร่ข้อมูลว่าขณะนี้กำลังเริ่มทบทวนการใช้ยาในกลุ่ม SGLT2 inhibitors ซึ่งเป็นยาสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ประกอบด้วยยา canagliflozin, dapagliflozin และ empagliflozin เพราะต้องการประเมินความเสี่ยงของยาเหล่านี้กับความเสี่ยงในการทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนในผู้ป่วยเบาหวาน (diabetic ketoacidosis) ภายใต้การร้องขอตามมาตรา 20 แห่ง Regulation (EC) No 726/2004 เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ.2015 EudraVigilance ซึ่งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา แห่งสหภาพยุโรป ได้รับรายงานจากทั่วโลกว่าผู้ป่วยที่ใช้ยาในกลุ่ม SGLT2 inhibitors ส่วนหนึ่ง จำนวน 101 ราย เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน (จากผู้ป่วยประมาณครึ่งล้านรายซึ่งได้รับยาเหล่านี้เป็นเวลา 1 ปี)

Sodium-glucose co-transporter-2 (SGLT2) inhibitors (หรือ SGLT2 inhibitors) เป็นยาที่ยับยั้งโปรตีนในไตที่ชื่อว่า SGLT2 ซึ่งโปรตีน SGLT2 นี้ทำหน้าที่ดูดน้ำตาลในปัสสาวะกลับเข้ากระแสเลือด การยับยั้งการทำงานจะสามารถทำให้กำจัดน้ำตาลทางปัสสาวะได้มากขึ้นและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (ยาในกลุ่มนี้ไม่ได้รับรองให้ใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1)

อาการที่เกิดขึ้นจากภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนในผู้ป่วยเบาหวาน (diabetic ketoacidosis) เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, anorexia, ปวดท้อง, กระหายน้ำผิดปกติ, หายใจลำบาก, สับสน, เมื่อล้าหรือหลับผิดปกติ

ตัวอย่างรายการยาในกลุ่มนี้

ตัวยาสำคัญ ชื่อการค้า ตัวอย่างประเทศที่มียานี้
canagliflozin Invokana สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, ไทย
canagliflozin and metformin Invokamet (สหรัฐอเมริกา), Vokanamet (สหภาพยุโรป) สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป
dapagliflozin Farxiga (ในอังกฤษมีชื่อ Forxiga) สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, ไทย
dapagliflozin and metformin extended-release Xigduo XR สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป
empagliflozin Jardiance สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป
empagliflozin and metformin Synjardy สหภาพยุโรป (อังกฤษยังไม่มี)
empagliflozin and linagliptin Glyxambi สหภาพยุโรป (อังกฤษยังไม่มี)

 

ความคืบหน้า โปรดติดตามต่อไป


เอกสารอ้างอิง
European Medicines Agency. Review of diabetes medicines called SGLT2 inhibitors started. http://www.ema.europa.eu/ema/index.jsp?curl=pages/medicines/human/referrals/SGLT2_inhibitors/human_referral_prac_000052.jsp&mid=WC0b01ac05805c516f (June12, 2015)
U.S Food and Drug Administration. FDA Drug Safety Communication: FDA warns that SGLT2 inhibitors for diabetes may result in a serious condition of too much acid in the blood. http://www.fda.gov/Drugs/DrugSafety/ucm446845.htm (May15, 2015)
Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency. SGLT2 inhibitors (canagliflozin, dapagliflozin, empagliflozin): risk of diabetic ketoacidosis. https://www.gov.uk/drug-safety-update/sglt2-inhibitors-canagliflozin-dapagliflozin-empagliflozin-risk-of-diabetic-ketoacidosis (June26, 2015)

นิวซีแลนด์ประกาศข้อมูลยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) กับผลต่อความปลอดภัยของหัวใจและหลอดเลือด

วันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ.2015 องค์การความปลอดภัยด้านยาและเครื่องมือแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นิวซีแลนด์ (New Zealand Medicines and Medical Devices Safety Authority, MEDSAFE) ได้เผยแพร่ข้อมูลของคณะกรรมการความปลอดภัยด้านยาและอาการที่ไม่พึงประสงค์ของยา (MARC) มีข้อสรุปว่า การใช้ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในขนาด 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลานานมีความเสี่ยงเพิ่มการเกิดอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตันเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่การใช้ยาตามปกติที่ 1,200 มิลลิกรัมต่อวันหรือต่ำกว่า ไม่มีความสัมพันธ์ต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจและหลอดเลือด ส่วนการใช้ยาระหว่าง 1,200-2,400 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุป

Ibuprofen

โครงสร้างทางเคมีของไอบูโพรเฟน
ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Ibuprofen

 อย่างไรก็ตามก็ได้มีคำแนะนำในการใช้ยาของผู้บริโภคและผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ดังนี้

1. คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค

– ใช้ยานี้เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบ (มีการบวม)
– ยานี้ส่วนมากแล้วปลอดภัยต่อประชาชน แต่ถ้ามีความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง เบาหวาน เป็นผู้สูบบุหรี่ ปัจจุบันหรือในอดีตมีประวัติหัวใจล้มเหลวหรือโรคหัวใจ ควรปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสม
– ใช้ยาในขนาดยาที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะใช้ได้ หรือหยุดใช้ยาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
– หากมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ยานี้ ให้ปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ

2. คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ

-ยานี้ยังคงมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง
– เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพียงเล็กน้อยเมื่อใช้ยาในขนาดสูง (2,400 มิลลิกรัมต่อวัน) และใช้เป็นเวลานาน
– สั่งใช้ยาในขนาดที่ต่ำที่สุดและระยะเวลาการใช้สั้นที่สุด
– ยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจและหลอดเลือด แต่ไม่สามารถแยกความแตกต่างของยาในกลุ่มได้ชัดเจน (ว่าอะไรเกิดมากน้อยกว่ากัน)
– ผู้ป่วยที่ใช้ยาไอบูโพรเฟนเป็นเวลานาน ควรมีการประเมินประสิทธิผล อาการไม่พึงประสงค์ และปัจจัยความเสี่ยงต่อหัวใจและหลอดเลือด (เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่)
– ระวังการสั่งยาสำหรับผู้ป่วยซึ่งมีประวัติหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหมุนเวียนโลหิต (เช่น การเกิดสโตรก)
– อภิปรายความเสี่ยงและประโยชน์ของยาต่อผู้ป่วยก่อนการใช้ยา
– หากพบอาการไม่พึงประสงค์ให้รายงานต่อศูนย์ติดตามอาการไม่พึงประสงค์

ข้อมูลของนิวซีแลนด์ในครั้งนี้ ค่อนข้างสอดคล้องกับการพิจารณาของสหภาพยุโรปในช่วงที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดที่ https://pharmaphila.wordpress.com/2014/06/14/ibuprofen)

medsafe-logo

เอกสารอ้างอิง

MEDSAFE. Ibuprofen and Cardiovascular Safety. http://www.medsafe.govt.nz/safety/EWS/2015/Ibuprofen.asp (17 June 2015)

หมอไทยไม่วางใจไวอากร้าหญิง (flibanserin) ได้ผล

จากกรณีคณะกรรมการที่ปรึกษาสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ลงมติ 18 ต่อ 6 ยอมรับให้มีการจำหน่ายยาฟลิแบนเซริน (flibanserin) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไวอากร้าผู้หญิง ในการประชุมเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันพฤหัสบดี (4 มิ.ย.) แม้มตินี้ของคณะที่ปรึกษาไม่ใช่ผลผูกมัด แต่เอฟดีเอมักปฏิบัติตาม และถ้าเอฟดีเอปฏิบัติตามผลการลงมติของคณะกรรมการที่ปรึกษาเอฟดีเอจะทำให้ยาฟลิแบนเซริน เป็นยาเสริมประสิทธิภาพทางเพศของผู้หญิงชนิดแรกที่ออกสู่ตลาด

ยาฟลิแบนเซริน เป็นยาที่ออกแบบมาให้ใช้ในกลุ่มผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน แต่อาจจะส่งผลข้างเคียงได้ โดยผู้ใช้อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ และง่วงเหงาหาวนอน

ด้าน พญ.คริสตินา จาง ตัวแทนของเอฟดีเอ ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาเอฟดีเอ กล่าวเรียกร้องให้คณะกรรมการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ของยาชนิดนี้กับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ใช้ยาชนิดนี้ ซึ่งเอฟดีเอมีความกังวลต่อผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิง โดยจะมีอาการง่วงซึม หน้ามืด ความดัน เลือดลดต่ำ และความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีผลกระทบต่อการใช้ยาคุมกำเนิดหรือการดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่ไปกับการใช้ไวอากราผู้หญิงชนิดนี้

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการที่ปรึกษาเอฟดีเอ ยังตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการใช้ยาฟลิแบนเซรินว่าจะถูกนำไปใช้ในทางอาชญากรรม โดยเป็นเครื่องมือในการกระตุ้น กำหนัดของผุ้หญิงเพื่อล่อลวงไปกระทำชำเรา ทั้งยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมจากยาชนิดนี้ เนื่องจากผลการทดลองกับสัตว์ แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงดังกล่าวในตัวอย่างหนึ่งในสองของสัตว์ทดลอง

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของการรับฟังเสียงจากสาธารณะปรากฏว่าผู้หญิงที่ได้ทดลองใช้ยาชนิดนี้ รู้สึกว่าฟลิแบนเซริน มีประโยชน์อย่างมาก นางอะแมนดา แพร์ริช หนึ่งในผู้ที่ได้ทดลองใช้ยาฟลิแบนเซริน กล่าวว่า ตนเองเป็น 1 ใน 11,000 คนที่โชคดีได้เข้ารับการทดลองใช้ยาไวอากร้าผู้หญิงในขั้นการทดลองทางคลินิก และสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีกับสามีที่เลวร้ายลงมาตลอด เนื่องจากตนหมดความรู้สึกทางเพศกับสามี ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ได้เข้ารับการทดลอง เป็นช่วงเวลที่ทำให้ชีวิตคู่ดีขึ้นมาก

ที่ผ่านมา ยาฟลิแบนเซริน ไม่ประสบความสำเร็จในการขอรับการอนุมัติให้นำเข้าสู่ตลาด เนื่องจากในการประชุมของเอฟดีเอ เมื่อปี 2553 และ 2556 ไม่มีการอนุมัติให้ยาชนิดนี้ออกจำหน่ายได้ โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าผลเปรียบเทียบกับยาหลอกยังไม่ชัดเจน

ขณะที่ ศ.นพ.สมบุญ เหลืองวัฒนากิจแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ทั่วโลกมีการทดลองเกี่ยวกับยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศผู้หญิงเป็นจำนวนมาก โดยการทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่าทำให้คลิตอริสหรือปุ่มกระสันของเพศหญิงพองตัวและมีสารคัดหลั่งมากขึ้น จึงคาดว่าน่าจะใช้ยานี้ช่วยในผู้หญิงที่มีปัญหาไม่ถึงจุดสุดยอดหรือไคลแม็กซ์ได้ แต่เมื่อนำยานี้มาทดลองในคน โดยเทียบกับยาหลอก พบว่ายานี้ให้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอก ที่ผ่านมาจึงยังไม่เห็นว่ามีการวิจัยจากที่ไหนประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนายานี้ในคน แต่เชื่อว่าถ้ามีการคัดกรองอาสาสมัครผู้หญิงที่มีปัญหาไม่ถึงจุดสุดยอดแต่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ต่ำ ก็น่าจะช่วยให้งานวิจัยเห็นความแตกต่างระหว่างยาจริงกับยาหลอก

“ที่ผ่านมามีการสำรวจพบว่า ผู้หญิงหลังอายุ 40 ปีขึ้นไป 50% จะมีปัญหาไม่ถึงจุดสุดยอด แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจเป็นการเฉพาะ แต่คาดว่าอัตราไม่แตกต่างกันเนื่องจากก่อนหน้านี้มีการสำรวจเพศชายในสหรัฐอเมริการ อายุ 40-70ปี พบว่า 52% มีปัญหาทางเพศ ต่อมามีการสำรวจในประเทศแตกต่าง อัตราก็ใกล้เคียงกันคือระหว่าง 30-60% ส่วนการรักษาในปัจจุบันมีงานวิจัยพบว่าผู้หญิงที่ไม่ถึงจุดสุดยอด เพราะฮอร์โมนเพศชายต่ำ ก็จะให้ฮอร์โมนเพศชายชดเชย แต่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเกิดจากปัญหาทางจิตใจยังไม่มียารักษา” ศ.นพ.สมบุญ กล่าว

ที่มา
คม ชัด ลึก. หมอไทยไม่วางใจไวอากร้าหญิงได้ผล. ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558 หน้า 11

อย.ไทยรายงานการใช้ยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) อาจเกิดผื่นแพ้ยาชนิด Fixed-drug eruption

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2558 ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทย ได้รายงานการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังชนิด  Fixed-drug eruption นอกจากนี้ยังพบผื่นผิวหนังชนิดรุนแรงอื่น ๆ ด้วย เช่น Stevens-Johnson syndrome และ toxic epidermal necrolysis ภายหลังใช้ยาไดเมนไฮดริเนต ( Dimenhydrinate) ซึ่งยานี้ได้รับอนุมัติทะเบียนครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2526 ปัจจุบันมีทั้งหมด 69 ตำรับ ชนิดรับประทานและฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม ใช้ป้องกันและบรรเทาอาการ เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน และรักษาอาการ vertigo อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เนื่องมาจากการบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้า การดมยาสลบและศัลยกรรมการผิดปกติของหูชั้นใน การฉายรังสี และกลุ่มอาการหลังการทำเฟเนสเตรชั่น (ที่หู) จึงขอให้ใช้ยาดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง 

ผื่นแพ้ยา fixed-drug eruption เป็น ผื่นแพ้ยาที่พบได้บ่อย ลักษณะของผื่นจะมีรูปร่างกลม ขอบชัดเจน ระยะแรกเริ่มจะมีสีแดงจัด ต่อมาตรงกลางของผื่นอาจเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำหรือออกม่วง ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้มากบริเวณตรงกลางของผื่นอาจพองเป็นตุ่มน้ำได้ มักจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ ลักษณะที่สำคัญที่สุดของผื่นแพ้ยาชนิดนี้ คือ หากผู้ป่วยได้รับยาเดิมที่แพ้เป็นครั้งต่อ ๆ มาอีก ก็จะเกิดผื่นแพ้ยาซ้ำตรงตำแหน่งเดิมทุกครั้งเสมอไป

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทย อ้างผลการประเมินจากการรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในฐานข้อมูล Thai Vigibase ซึ่งได้รับรายงานจากเครือข่ายทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,322 ฉบับ เป็นรายงานทางระบบผิวหนัง (skin and appendages disorders) มากที่สุด จำนวน 2,711 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2558) โดยพบ fixed-drug eruption มากที่สุด จำนวน 1,013 ฉบับ มีระดับความสัมพันธ์ใช่แน่นอน (certain) 223 ฉบับ อาจจะใช่ (probable) 634 ฉบับ น่าจะใช่ (possible) 148 ฉบับ ไม่น่าใช่ (unlikely) 1 ฉบับ และไม่ทราบ (unknown) 7 ฉบับ ผลของอาการส่วนใหญ่หายโดยยังมีร่องรอยเดิม นอกจากนี้ ฐานข้อมูล Thai Vigibase ยังพบผื่นผิวหนังรุนแรงชนิดอื่น ๆ เช่น Stevens-Johnson syndrome 71 ฉบับ epidermal necrolysis 4 ฉบับ toxic epidermal necrolysis 21 ฉบับ erythema multiforme 45 ฉบับ erythema multiforme severe 3 ฉบับ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. การเกิด Fixed-drug eruption ภายหลังใช้ยา Dimenhydrinate. จดหมายข่าว HPVC Safety News ฉบับที่ 3/2558 วันที่ 2 มิถุนายน 2558. สืบค้นจาก http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Public/NewsAdr/uploads/hpvc_341.pdf