ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่มี ไตรโคลซาน (triclosan) หรือ ไตรโคลคาร์บาน (triclocarban)

สำนักงานอาหารและยา สหรัฐอเมริกา กำลังติดตามสบู่หรือผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารฆ่าเชื้อไตรโคลซาน (triclosan) หรือ ไตรโคลคาร์บาน (triclocarban) อย่างใกล้ชิด

triclosanภาพจาก http://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm378393.htm

หลายคนเชื่อว่า การใช้ผลิตภัณฑ์สบู่หรือผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่ผสมสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียจะช่วยให้ร่างกายสะอาดขึ้น หรือลดความเจ็บป่วยจากเชื้อโรค

ดร.คอลลีน โรเจอร์ (Colleen Rogers) หัวหน้านักชีววิทยา สำนักงานอาหารและยา สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ความจริงแล้วไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าสบู่ผสมสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้จะช่วยลดหรือป้องกันโรคมากไปกว่าการใช้สบู่ธรรมดากับน้ำเปล่า ยิ่งไปกว่านั้นอาจได้รับความเสี่ยงจากสารเคมีที่มีชื่อว่า ไตรโคลซาน (triclosan) หรือ ไตรโคลคาร์บาน (triclocarban) มากกว่าประโยชน์จากการใช้ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้”

การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารไตรโคลซาน (triclosan) หรือ ไตรโคลคาร์บาน (triclocarban) ติดต่อกันเป็นประจำในระยะเวลานานยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย (การทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าไตรโคลซานทำให้แบคทีเรียสามารถดื้อยาปฏิชีวนะได้ โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการปั๊มขับยาออกจากแบคทีเรีย) และอาจมีผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนอีกด้วย (การศึกษาในสัตว์พบว่าไตรโคลซานสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย ทางสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกาจึงตระหนักและติดตามว่าจะเกิดผลดังกล่าวในคนหรือไม่)

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา ได้มีการออก proposed rule หรือร่างกฎเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นระยะเวลา 180 วัน (วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2557) โดยกฎที่จะเกิดขึ้นนี้เรียกร้องให้ผู้ผลิตให้ข้อมูลที่แสดงถึงความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้สบู่ที่ผสมสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เฉพาะที่ใช้กับผู้บริโภคทั่วไปเท่านั้น (ไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดมือ กระดาษเช็ดมือ หรือสบู่ที่ใช้ในสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล)

ด้านสิ่งแวดล้อม มีการใช้ไตรโคลซาน (triclosan) เป็นยาฆ่าแมลงซึ่งองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา (EPA) ได้ควบคุมและกำลังประเมินผลกระทบจากการใช้ triclosan โดยร่วมมือกับสำนักงานอาหารและยา สหรัฐอเมริกาเพื่อประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

สถานะการควบคุมตามกฎหมาย

ปัจจุบัน (19 ธันวาคม พ.ศ.2556) ผลิตภัณฑ์ที่มีสารฆ่าเชื้อ ในสหรัฐอเมริกาจัดเป็นยา และเป็นยาที่ขายได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ (OTC) กรณีของในประเทศไทย ไตรโคลซาน เป็นวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 24 ส่วนไตรโคลคาร์บาน เป็นวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 22 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 47) พ.ศ.2550 เรื่อง กำหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง นั่นหมายความว่าสบู่หรือครีมล้างมือหรือครีมอาบน้ำที่มีสารไตรโคลซานหรือไตรโคลคาร์บาน ถือว่าเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535

เอกสารอ้างอิง

U.S.Food and Drug Administration. FDA Taking Closer Look at ‘Antibacterial’ Soap. http://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm378393.htm (December16, 2013)

Safety and Effectiveness of Consumer Antiseptics; Topical Antimicrobial Drug Products for Over-the-Counter Human Use; Proposed Amendment of the Tentative Final Monograph; Reopening of Administrative Record. Federal Register Vol. 78, No. 242, December 17, 2013; 76444 http://www.regulations.gov/contentStreamer?objectId=09000064814c4d8a&disposition=attachment&contentType=pdf

Leave a comment