การเพิกถอนทะเบียน meprobamate

meprobamate เป็นอนุพันธ์ของคาร์บาเมต ได้นำมาใช้เป็นยาคลายกังวล เคยขายดีในช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่ต่อมามีการใช้ ยากลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ (benzodiazepines) แทนเนื่องจากความเป็นพิษต่ำกว่าและผลข้างเคียงที่ต่ำกว่าการใช้ mebrobamate

ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Meprobamate

สถานการณ์การควบคุมในแต่ละประเทศ

แคนาดา นอกจากการอนุญาตให้ใช้ meprobamate ในเรื่องคลายกังวลแล้ว ยังอนุญาตให้ใช้ในกรณีคลายกล้ามเนื้อ ต้านการซึมเศร้า ล่าสุดทางแคนาดาเตรียมเพิกถอนทะเบียนยาที่มี meprobamate  เป็นส่วนประกอบ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2556 (ค.ศ.2013) เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา (Health Canada) พบว่า ยามีค่าช่วงการรักษาแคบ (narrow therapeutic index) อาจก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์รุนแรงหลายอย่าง เช่น ระดับยาเกินขนาด หมดสติ การใช้ยาในทางที่ผิด การใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ก่อให้เกิดการติดยา หรือมีอาการถอนยา แม้ว่าจะใช้ในเงื่อนไขปกติก็ตาม ซึ่งเมื่อเทียบประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้แล้วเห็นว่าไม่ควรใช้อีกต่อไป ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรเตรียมเปลี่ยนวิธีการรักษา

สหภาพยุโรป อนุญาตให้ใช้ meprobamate ในการคลายกังวลและอาการอื่นที่เกี่ยวเนื่องมาจากความวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นอาการถอนแอลกอฮอล์ ไมเกรน ความผิดปกตอของระบบย่อยอาหาร กล้ามเนื้อเกร็ง นอนไม่หลับ ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2011 ฝรั่งเศสได้เสนอให้สหภาพยุโรปได้มีการทบทวนสูตรตำรับที่มี meprobamate เป็นส่วนประกอบ เนื่องมาจากผลข้างเคียงของยาและการติดยาเมื่อใช้เป็นเวลานาน คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ยาสำหรับมนุษย์ (Committee for Medicinal Products for Human Use, CHMP) ทบทวนข้อมูลแล้วสรุปว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ meprobamate ไม่ได้มีเหนือความเสี่ยง จึงเห็นสมควรต้องยุติการขายชั่วคราวทั่วสหภาพยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงจากอาการถอนยาในผู่ป่วยซึ่งหยุดใช้ยาทันที

ไทย กำหนดให้ meprobamate เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 3 ยังไม่ได้มีการสั่งห้ามขายอย่างเป็นทางการ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2556)

เอกสารอ้างอิง

Health Canada. 282 MEP (meprobamate-containing medicine) – Market Withdrawal, Effective October 28, 2013 – For Health Professionals. http://www.healthycanadians.gc.ca/recall-alert-rappel-avis/hc-sc/2013/35311a-eng.php (August29, 2013)

European Agency Medicine. Meprobamate. http://www.ema.europa.eu/ema/index.jsp?curl=pages/medicines/human/referrals/meprobamate/human_referral_000293.jsp&mid=WC0b01ac0580024e99 (June 8, 2012)

Wikipedia. Meprobamate. http://en.wikipedia.org/wiki/Meprobamate (August29, 2013)

Leave a comment